ชุมชนคุณธรรมวัดนาทวี จังหวัด สงขลา

ชุมชนคุณธรรมวัดนาทวี มีวัดนาทวีเป็นสถานที่ปฏิบัติพิธีทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชน เป็นศูนย์รวมจิตใจ  ส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรมให้แกเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ การรวมกลุ่มต่าง ๆ  ในชุมชน เช่น กลุ่มอาชีพ / กลุ่มออมทรัพย์ / โดยเฉพาะกลุ่มจิตอาสาที่เกิดขึ้นตามพระราชปณิธานแห่งพระมหากษัตริย์รัชกาล ที่ ๑๐ เจตนารมณ์ของผู้นำชุมชน ต้องการให้ลูกบ้าน  ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนาโดยมีการประกาศชุมชนปลอดเหล้า/ปลอดการพนัน /ปลอดสิ่งเสพติด/ปลอดการลักขโมย/ปลอดการทะเลาะวิวาท 

ชุมชุมคุณธรรมวัดนาทวี มีผู้นำพลัง “บวร” ที่มีวิธีคิดในการบริหารจัดการท่องเที่ยวที่เน้นการสืบทอดประเพณีตามที่เคยปฏิบัติมาอย่างเหนียวแน่น สามารถร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยว ทั้งในด้านพระพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วันสำคัญทางศาสนา การรวมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ   มีแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมสองศาสตร์ ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขบนพื้นฐานความเข้าใจมีความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์กัน ที่สะท้อนให้เห็นความร่วมมือและการแบ่งหน้าที่กันในชุมชนอย่างชัดเจน  

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดนาทวี วัดนาทวีเป็นศาสนสถานที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นกลไกลสําคัญในการ ส่งเสริมด้านคุณธรรม  จริยธรรมให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป ในการอบรมกล่อมเกลาสมาชิกในชุมชน และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และเป็นสถานที่   จัดกิจกรรม  ให้ความรู้ด้านศีลธรรมด้านประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามแก่เยาวชนและประชาชน

 แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ท่าน้ำสีรุ้งวัดนาทวี เป็นสถานที่สวย ๆ ภายในวัดนาทวี สำหรับให้นักท่องเที่ยว ได้ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก จึงทำให้วัดนาทวีทุกวันนี้ มีทั้งเด็ก ๆ เยาวชน และครอบครัวต่าง ๆ พากันมาเดินเล่น  ดูคำคม บทกลอน และสุภาษิต สอนใจ ทำแต่สิ่งดี ๆ โดยจะติดตามต้นไม้ตามริมถนนสายรุ้ง

สะพานสามสี ชลประทาน ปลัก-ปลิง เป็นที่ทำการชลประทาน ปลักปลิง ได้บำรุงรักษาโดยการทาสี เพื่อให้เป็นจุดเด่นเป็นอีกหนึ่งสถานที่เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ และเหมาะแก่การออกกำลังกาย วิ่ง ปั่นจักรยานและกิจกรรมอื่น ๆ

ร้านอาหารพื้นเมือง “ร้านป้าเหวียน” เป็นร้านเก่าแก่อายุกว่า 50 ปี ขายอาหารพื้นบ้านข้าวราดแกง ขนมจีน เถ้าคั่ว และขนมหวานพื้นบ้าน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้ พระอาจารย์ภัตร (อริโย) ศูนย์เรียนรู้เป็นศูนย์รวมแห่งพหุวัฒนธรรม ตั้งเป็นพหุวัฒนธรรม นวัตกรรมชุมชน เรียกว่าชุมชนต้นแบบ เพราะว่าที่ตรงนี้เป็นชุมชนที่หลากหลายทางศาสนาที่อยู่กันมาเนิ่นนานแล้ว ตรงนี้เป็นตัวต้นแบบตั้งแต่พี่น้องชาวพุทธ พี่น้องชาวอิสลาม ที่ได้มาเที่ยวกันที่มาช่วยเหลือกัน ในการทำนาข้าวที่ครบวงจร 

หมู่บ้านชุมชนคุณธรรม น้อมนำหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงบ้านนาทวี คนในชุมชนเคารพเทิดทูน สถาบันชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความ เป็นเครือญาติ เอื้ออาทรแบ่งปัน ไม่มีการทะเลาะวิวาท ไม่มีการลักขโมย ลด ละ เลิกอบายมุข ปลอดยาเสพติด และอาชญากรรม 

ที่ทำการชุมชนนาทวี หมู่ที่ 4 ภายในชุมชน มีการรวมกลุ่มต่าง ๆ เกิดขึ้นในชุมชน เช่น กลุ่มอาชีพ / กลุ่มออมทรัพย์ / โดยเฉพาะกลุ่มจิตอาสาที่เกิดขึ้นตามพระราชปณิธานแห่งพระมหากษัตริย์        รัชกาล ที่ ๑๐

กิจกรรมการท่องเที่ยว

สัมผัสแลนด์มารคท่าน้ำสีรุ้ง วัดนาทวี ท่าน้ำสีรุ้ง วัดนาทวี นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสแลนด์มารคท่าน้ำสีรุ้งวัดนาทวีร่วมถ่ายรูป ได้ตลอดทั้งปี

กิจกรรมดำนาแบบโบราณในฤดูการทำนา ศูนย์การเรียนรู้พระอาจารย์ภัตร (อริโย) นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสวิถีชีวิตการทำนาโดยร่วมกิจกรรมดำนากับชุนได้ ประมาณเดือนธันวาคม – มกราคม

กิจกรรมเก็บเกี่ยวข้าวด้วยแกะแบบโบราณในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ศูนย์การเรียนรู้ พระอาจารย์ภัตร  (อริโย) นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสวิถีชีวิตการทำนาโดยร่วมกิจกรรมเก็บเกี่ยวข้าวด้วยแกะแบบโบราณ ร่วมกับชุมชนได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านคอกช้าง จังหวัดยะลา

ชาวบ้านคอกช้าง ในอดีตคือชาวบ้านโตที่ได้อพยพจากพื้นที่เดิม ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำ คือ “เขื่อนบางลาง” ในอดีตบริเวณบ้านคอกช้างเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างป่า ควาญช้างจึงทำการคล้องช้างและทำคอกบริเวณสนามโรงเรียนบ้านโตในปัจจุบัน จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามคำเรียกขานของชาวบ้านว่า ” คอกช้าง”

         “ชุมชนหลากหลายวัฒนธรรม ศักยภาพเข้มแข็ง สามัคคี กองทุนดี มีทรัพยากรสมบูรณ์”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดคอกช้าง วัดคอกช้างเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ ศูนย์รวมชุมชนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ วัดคอกช้างยังมีความสำคัญเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและประเพณี สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพึ่งความสงบ เพื่อคลายความทุกข์ใจ 

ชุมชนโบราณ หรือ ชุมชนบ้านคอกช้างเดิม ชุมชนโบราณที่ถูกน้ำท่วมจมบาดาล หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนบางลาง และโผล่ให้เห็นหลังน้ำแห้งเป็นบริเวณกว้าง ปรากฏเป็นโครงสร้างมัสยิด และวิหารวัดอยู่ไม่ไกลกัน สามารถมองเห็นสถานที่ต่าง ๆตลอดจนบ้านเรือนโบราณหลายร้อยหลังคาเรือน ซึ่งบ่งบอกถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติในอดีต 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

น้ำตกบ้านคอกช้าง น้ำตกคอกช้าง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลคอกช้าง จะเห็นป้ายเล็ก ๆ บอกทางไว้ตรงกลาง โดยทางด้านซ้ายมือเป็นเส้นทางไป อำเภอเบตง สายล่างเลาะริมเขื่อนบางลาง มีเส้นทางที่คดเคี้ยว ส่วนทางด้านขวามือเป็นเส้นทางไป อำเภอเบตง สายบน เส้นทางมีความลาดชัน แต่ใกล้กว่าสายล่างส่วนทางตรงกลางคือเส้นทางตรงไปน้ำตกคอกช้าง ซึ่งอยู่ห่างจากตลาดคอกช้างประมาณ ๒๐๐ เมตร มีน้ำใสไหลเย็น ชุ่มชื้นตลอดปี

ทะเลหมอกวัดคอกช้าง บนเทือกเขาวัดคอกช้าง แหล่งท่องเที่ยวชม “ทะเลหมอก” โดยการเดินทางนั้นจะต้องเดินเท้าจากวัดคอกช้าง ขึ้นไปบนภูเขาหลังวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ของวัดคอกช้าง ประมาณ ๕๐๐ เมตร ระดับความชันของเนินเขาประมาณ ๔๕ องศา เดินลัดเลาะไปตามเส้นทางที่มีต้นไม้ธรรมชาติขึ้นอยู่เรียงราย และใช้เวลาในการเดินเท้าประมาณ ๓๐ นาที ก็ถึงจุดชมวิวทะเลหมอก

สะพานข้ามเขื่อนบางลาง หรือ สะพานฆอแย สะพานฆอแย แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ย่นระยะยะลา – เบตง นักท่องเที่ยวมีความสะดวกในการใช้เส้นทางมากยิ่งขึ้น บริเวณสะพาน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังอำเภอเบตง จะแวะเวียนมาชมความสวยงามทัศนีย์ภาพของเขื่อนบางลางในแต่ละวัน เป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพการขายอาหารและของฝากจากอำเภอธารโต เป็นอาชีพใหม่ เสริมรายได้นอกเหนือจากอาชีพการกรีดยางที่เป็นอาชีพหลัก

ทะเลสาบธารโต เป็นทะเลสาบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนบางลาง พื้นที่ครอบคลุมอำเภอธารโต จดจังหวัดนราธิวาส เป็นแหล่งปลาน้ำจืด ศึกษาธรรมชาติทางน้ำ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

กลุ่มแม่บ้านเกษตรคอกช้าง เป็นแหล่งเรียนรู้การถ่ายทอด ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถนอมอาหาร ซึ่งเป็นสูตรปลาส้มของแม่ดาวที่ขึ้นชื่อในบ้านคอกช้าง มาถ่ายทอดให้กับชุมชน หมู่บ้าน คนที่สนใจ เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ ไปสร้างกลุ่ม ต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน ซึ่งเป็นความต้องการของชุมชน ที่ต้องการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

เทศกาลประเพณีชักพระทางน้ำ ช่วงออกพรรษา เกาะทวด ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ประเพณีชักพระทางน้ำของชุมชนคุณบ้านคอกช้าง ที่เกาะทวดจัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีชุมชนไทยพุทธในเขื่อนบางลาง โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐานบนบุษบกในเรือ แล้วแห่แหนโดยการลากไปทางน้ำ นอกจากประเพณีลากพระทางน้ำ แล้วได้จัดกิจกรรมชกมวยทะเล และแข่งพายเรือละเล่นพื้นบ้าน หาดูได้ที่นี้ที่เดียวใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

เทศกาลประเพณี สารทเดือน ๑๐ วัดคอกช้าง ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ชุมชนคุณธรรมบ้านคอกช้างได้จัดงานส่งเสริมประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประจำทุกปี จะมีการแห่หมรับ และการปีนเสาน้ำมัน ประชาชนจำนวนมากนำขนมเดือนสิบ ประกอบด้วย ขนมต้ม ขนมเทียน ขนมเจาะหู ขนมลา ขนมกรุบ ขนมจู้จุน ขนมบ้า ขนมไข่ปลา ยาหนม  เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ ปู่ ยา ตา ยาย ทวด  พร้อมทั้งการทำบุญตักบาตร ร่วมชิงเปรต และการปีนเสาน้ำมันเพื่อส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

เทศกาลประเพณีกวนขนมอาซูรอ มัสยิดอัลอูบูดียะห์ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา      การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) เนื่องด้วยเป็นวันที่ท่านศาสดามุฮัมหมัด ได้ถือศีลอดและส่งเสริมให้มุสลิม ปฏิบัติตาม และให้ถือศีลอดในวันที่ ๙ มุฮัรร็อม อีกหนึ่งวัน เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า อาซูรอ การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านหน้าถ้ำ จังหวัดยะลา

ตามตำนานเก่าเล่าว่าตำบลหน้าถ้ำ เป็นเกาะที่มีน้ำล้อมรอบไม่มีคนอาศัยอยู่ ในสมัยศรีวิชัยมีการแบ่งการปกครองเป็นหัวเมือง ในสมัยนั้นรัฐกลันตัน  ตรังกานู  ยังอยู่ภายใต้การปกครองของไทย  และอีกหลายร้อยปีต่อมา  บริเวณนั้นเกิดน้ำแห้งแปรสภาพเป็นพื้นดินจึงมีผู้คนมาอาศัยอยู่ เรียกว่า “หน้าถ้ำ” หรือ “บ้านหน้าถ้ำ”เป็นที่ตั้งของหมู่ที่  1  

โบราณสถานพันปี  สีมายา  ภูผาสวย

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

พระพุทธไสยาสน์ (พ่อท่านบรรทม) พระพุทธไสยาสน์ ชาวตำบลหน้าถ้ำนิยมเรียกว่า “พ่อท่านบรรทม” เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ วัสดุก่ออิฐถือปูน ปั้นด้วยดินเหนียวโดยใช้ไม่ไผ่เป็นโครง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัยรุ่งเรือง ราว พ.ศ. ๑๓๐๐ หรือสมัยเดียวกับพระบรมธาตุเมืองนคร ขนาดความยาวของพระเศียรถึงพระบาท  ๘๑ ฟุต ๑ นิ้ว โดยรอบองค์พระ  ๓๕  ฟุต ศิลปะศรีวิชัยผสมลังกา

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ตำบลหน้าถ้ำ ตำบลหน้าถ้ำเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นศาสนสถานที่พบเทวรูปสำริด กำแพงเมืองพระพิมพ์ดินดิบแบบทวารวดี ศรีวิชัย ภาพเขียนต่าง ๆ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 17 อีกทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งมีพุทธไสยาสน์ หรือทางภาคใต้ เรียกว่า “พระนอน” เป็นที่เคารพสักการะของคนในชุมชนและบุคคลทั่วไป

หอวัฒนธรรมศรีชัย หอวัฒนธรรมศรีวิชัย  เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุสำคัญที่ได้จากบริเวณเขาวัดหน้าถ้ำ เขากำปั่น และแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีสำคัญในจังหวัดยะลา และนราธิวาส กรมศิลปากร ดำเนินการบูรณะและปรับปรุงหอวัฒนธรรมศรีวิชัยมาแล้ว ๒ ครั้งคือใน พ.ศ. ๒๕๔๘ และ พ.ศ. ๒๕๖๐

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ถ้ำมืด ถ้ำมืด มีหินงอก หินย้อย ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อายุหลายร้อยปี มีความงดงาม แปลกตา จำนวนหลายแห่ง แต่ละแห่งมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น ม่านฟ้า นาเกลือ หินงอกงวงช้าง หินงอกปลาโลมา หลุมแม่ม่าย

ถ้ำเสือ สถานที่ใกล้เคียงถ้ำมืด ลักษณะภายในเหมือนกับถ้ำมืดมีหินงอก หินย้อยที่สวยงาม

ถ้ำศิลป์ ถ้ำศิลป์ อยู่ภูเขาเดียวกันกับถ้ำพระนอน จิตรกรรมฝาผนังถ้ำศิลป์ เป็นภาพพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่ง เป็นแถวเบื้องซ้ายและขวา มีสาวกหรือนั่งประนมมืออยู่ พระพุทธเจ้าปางลีลาและมีรูปผู้หญิงยืนเป็นหมู่สามคน ส่วนสีที่เขียนเป็นสีดินเหลือง เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยสีน้ำตาลและแดง เพื่อแยกน้ำหนักอ่อนแก่ ตัดเส้นด้วยสีดำ ส่วนสีเขียวปรากฏให้เห็นในภาพ เป็นสิ่งที่เกิดขี้นภายหลังเนื่องจากปฏิกิริยาทางเคมีของสารที่ผสมอยู่ในสี

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

กลุ่มปูนขาว ปูนขาว หน้าถ้ำ เป็นวัสดุที่ได้จากการเผาหินปูน (แคลเซียมคาร์บอเนต) โดยใช้ความร้อนสูง จะได้เป็นปูนสุก เมื่อเย็นตัวลงแล้วพรมน้ำให้ชุ่ม ปูนสุกจะทำปฏิกิริยากับน้ำได้เป็น ส่วนที่เป็นผงแห้งได้เป็น ปูนขาว และส่วนที่เป็นสารแขวนลอยคือ น้ำปูนใส และยังได้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้เด็ก ๆ และเยาวชน ตามโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ ๕ จังหวัด ไม่มีแล้ว ยังเหลือเพียง ๒ แห่ง ในจังหวัดยะลา ที่ ตำบลหน้าถ้ำ และ ตำบลลิดล อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

สวนลุงประดับ  ลุงประดับ เป็นชาวยะลาที่เกิดในครอบครัวชาวสวนแห่งหมู่บ้านหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ลุงจึงเติบโตมากับพืชผัก ผลไม้ แทบทุกชนิดที่พ่อแม่ปลูกไว้กินและขายเป็นรายได้หลักของครอบครัว ปัจจุบันลุงประดับมีพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ ๒ ไร่ เป็นพื้นที่เล็กแต่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครับ ๓๐,๐๐๐ – ๔๐,๐๐๐ ต่อเดือน ที่ได้จากการเลี้ยงหมูหลุม การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ และผสมพันธุ์ไก่ระหว่าง ไก่เบตงกับไก่เนื้อดำ ไก่บ้านกับไก่เบตง เป็นต้น

สวนลุงพนม สวนลุงพนม เกษตรต้นแบบส่วนผสมความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ทักษะและเทคนิคด้านการเกษตรและเทคโนโลยีโดยพัฒนาพื้นฐานดั้งเดิมผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่การแก้ไขปัญหาเกษตรกรโดยการทำไร่ทำสวนผสม การแก้ปัญหาด้านการตลาด และด้านการ ผลิตผลรวมไปถึงการแก้ไขปัญหาโรคและแมลงและการปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะใน ภาคการเกษตร เป็นต้น

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ศึกษาเรียนรู้วัดถ้ำ เยี่ยมชมจุดต่าง ๆ วัดคูหาภิมุข ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ชมโบราณสถาน วัดถ้ำ (วัดคูหาภิมุข) เดินขึ้นบันไดทางขึ้นก่อนถึงปากถ้ำ จะพบรูปปั้นยักษ์ “เจ้าเขา” มีรูปร่างตัวดำผมหยิก นุ่งผ้าถุงสีแดง เมื่อเข้าไปภายในถ้ำมีลักษณะคล้ายห้องโถงใหญ่ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอน 

ชมหอวัฒนธรรมศรีวิชัย หอวัฒนธรรมศรีวิชัย เข้าศึกษาเรียนรู้ในหอวัฒนธรรมศรีวิชัย  เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุสำคัญ ที่ค้นพบในตำบลหน้าถ้ำ โดยมีวิทยากรบรรยายให้ความรู้

มัดย้อมผ้าสีมายา กลุ่มสีมายาหน้าถ้ำ กิจกรรมมัดย้อมผ้าเช็ดหน้า

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านบ่อน้ำร้อน จังหวัดยะลา

เป็นหมู่บ้านที่ค้นพบโดยชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตพรมแดนไทยมาเลเซีย เดินสำรวจตามแนวลำธารจนพบแอ่งน้ำที่มีความร้อน สามารถอาบน้ำคลายหนาว และรักษาบำบัดโรคผิวหนังได้ ต่อมาจึงได้มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานเกิดเป็นชุมชน  เรียกชื่อชุมชนนี้ตามลักษณะของภูมิศาสตร์ว่า  “บ้านบ่อน้ำร้อน” แช่บ่อน้ำร้อน นอนดูหมอก ดอกไม้งาม ตามรอยดูอุโมงค์ปิยะมิตร

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดบ่อน้ำร้อน ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สถานที่ประดิษฐานหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ และเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมของคนในชุมชน

อุโมงปิยะมิตร ตั้งอยู่ที่บ้านปิยะมิตร 1 หมู่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นฐานที่มั่นปฏิบัติการต่อสู้ ทางการทหารของอดีตขบวนการโจร คอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) เป็นหลุมหลบภัยทางอากาศ และสะสมเสบียงอาหาร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙

 แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

บ่อน้ำพุร้อนเบตง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา บ่อน้ำร้อนธรรมชาติ มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๓ ไร่ โดยจะมีน้ำร้อนผุดขึ้นมาจากใต้ดิน อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ประมาณ ๘๐ องศาเซลเซียส ซึ่งตรงจุดที่มีน้ำเดือดนี้ สามารถต้มไข่ไก่ได้จนสุกภายใน ๗ นาที

สวนไม้ดอกเมืองหนาว เบตง ตั้งอยู่ที่ บ้านปิยะมิตร 2 หมู่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สวนไม้ดอกเมืองหนาวเบตง แห่งเดียวในภาคใต้ มีสภาพอากาศที่เหมาะสม อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางราว ๘๐๐ เมตร มีอากาศเย็นสบายตลอดปี สวนดอกไม้นี้อยู่ท่ามกลางภูเขา ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนส้มโชกุน “ช้างบ่อน้ำร้อนเบตง” ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สวนส้มขนาดใหญ่  มีพื้นที่กว่า ๒๐๐ ไร่ การปลูกส้มโชกุนบ้านบ่อน้ำร้อนแตกต่างต่างจากที่อื่น เป็นการปลูกบนภูเขา แบบขั้นบันได เหมือนการปลูกชาของภาคเหนือ ส้มโชกุนที่นี้มีคุณลักษณะต่างจากส้มทั่วไปผลจะใหญ่กว่า รสชาติหวานนำเปรี้ยวเปลือกบาง เนื้อเยอะ

สวนทุเรียนมูซานคิง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สวนศักดิ์ศรี เป็นสวนแรก ๆ ที่นำทุเรียนพันธุ์   มูซานคิงเข้ามาปลูกในพื้นที่ ชุมชนคุณธรรมบ้านบ่อน้ำร้อน อำเภอเบตง ลักษณะเด่นของทุเรียน จะมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือบริเวณก้นผลจะดูเป็นแฉกรูปดาว ๕ แฉก เปลือกบาง เมล็ดเล็กและลีบบาง เนื้อเป็นสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเนียน รสชาติหวานมันและหวานแหลม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

กิจกรรมการท่องเที่ยว

งานสีสันโคมไฟเบตง บ่อน้ำร้อน เบตง ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา งานสีสันโคมไฟเบตง จัดแสดงโคมไฟหลากหลายรูปแบบ โดยมีทั้งโคมไฟมังกรจักรพรรดิ โคมไฟกิเลน ประติมากรรมโคมไฟเซียนกลางน้ำ ต้นไม้แห่งความปรารถนา อุโมงค์แห่งแสง และประติมากรรมโคมไฟอื่น ๆ ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว เรียงรายตามจุดต่าง ๆ รอบบริเวณบ่อน้ำร้อนมีการแสดง แสง สี แสง และศิลปวัฒนธรรม 

ชมสวนไม้ดอกเมืองหนาว เทศกาลดอกไม้บานที่เบตง สวนไม้ดอกเมืองหนาวเบตง  ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เทศกาลดอกไม้บานที่เบตง จุดขึ้นเพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษจีนและวันแห่งความรักที่กำลังจะมาถึง โดยมี ดอกไม้นานาพันธุ์ บานสะพรั่ง คอยเชื้อเชิญผู้มาเยือนให้มาได้ถ่ายรูปความสวยงามของดอกไม้ อาทิ ดอกทิวลิป หลากสีทั้งสีขาว แดง ชมพู และส้ม ซึ่งเป็นไฮไลต์ของงาน รวมไปถึงดอกแอสเตอร์ ไฮเดรนเยีย พีค๊อก เยอบีร่า ลิลลี่ แกลดิโอลัส และอีกหลายสายพันธุ์อันมีเสน่ห์ ที่ให้สีสันสวยงามพร้อมเบ่งบานให้นักท่องเที่ยวได้ชมความสวยงามตลอดทั้งงาน

ชมอุโมงค์ปิยะมิตร อุโมงค์ปิยะมิตรตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ และอุโมงค์ดินสร้างขึ้นในปี 2519 ใช้กำลังคนในการขุดเจาะประมาณ 50 คน ขุดเข้าไปในภูเขา ใช้เวลา 3 เดือน  มีความกว้าง 50-60 ฟุต ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร สามารถจุคนได้เกือบ 200 คน มีทางเข้าออกทั้งหมด 9 ทาง เชื่อมต่อถึงกันหมด ปัจจุบันเหลือ 6 ทาง ภายในอุโมงค์มีห้องเก็บเสบียงห้องนอน อากาศเย็นสบาย 

ชมแปลงการเกษตร สวนทุเรียนมูซานคิง  ศึกษาวิธีการปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงเบตง

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมฯ วัดบางใบไม้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ชุมชนคุณธรรมฯ วัดบางใบไม้ “ในบาง” เป็นชุมชนเก่าแก่กว่า ๒๐๐ ปี ประชาชนส่วนใหญ่ดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมพึ่งพิงแม่น้ำลำคลอง ทำสวน มีพระพุทธรูปหลวงพ่อข้าวสุขเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ในชุมชนมีคลองเล็กคลองน้อย นับร้อยสายเชื่อมโยงกันไหลไปออกแม่น้ำตาปี สองฝั่งคลองมีธรรมชาติร่มรื่น มีต้นจากขึ้นอยู่เรียงรายและลู่ใบเข้าหากันเป็นอุโมงค์ธรรมชาติที่งดงาม วันอาทิตย์จะมีตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้ เป็นตลาดชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว 

หากมาเที่ยวชุมชนคุณธรรมฯ วัดบางใบไม้ สิ่งที่ไม่ควรพลาดคือการล่องเรือสัมผัสวิถีชีวิตของชาวในบางที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ ชมความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติตลอดแนวสองฝั่งคลอง ลอดอุโมงค์จากที่งดงาม ฟังเรื่องเล่าจากมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ศึกษาเคล็ดลับภูมิปัญญาท้องถิ่น เลือกซื้ออาหาร ของฝาก ผลิตภัณฑ์ในชุมชน ดื่มด่ำบรรยากาศแห่งมิตรภาพของเจ้าบ้านที่ดีและเสน่ห์ของชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดบางใบไม้    วัดบางใบไม้ สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศูนย์กลางทางสังคมของประชาชนในชุมชน วัดบางใบไม้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนแห่งนี้เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว มีหลวงพ่อขำ เป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น

ตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้ เป็นตลาดชุมชนมีพลังบวรเป็นแกนหลักในการจัดการ และการมีส่วนร่วมของกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลบางใบไม้และคนในชุมชน เปิดทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. เพื่อให้ประชาชนในชุมชนและใกล้เคียงนำผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารพื้นบ้าน ขนมไทย อาหารทะเล และผักผลไม้ ที่เน้นใช้วัสดุธรรมชาติเป็นภาชนะ อร่อย ราคาถูกมาจำหน่าย สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน เป็นที่พักผ่อนและแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

บ้านโบราณ ๒๐๐ ปี เชื่อว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๒ เป็นเรือนทรงไทยหลังใหญ่สร้างตามแบบเรือนไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นจุดกำเนิดของชุมชนบางใบไม้ มีลักษณะเป็นเรือนปั้นหยาแฝด สร้างโดยใช้วิธีการเข้าสลักไม้ ยึดโครงสร้างของบ้านแทนการตอกตะปู 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คลองร้อยสาย คลองร้อยสาย เป็นชื่อเรียกของลำน้ำเล็ก ๆ ที่แตกแขนงมาจากแม่น้ำตาปี ซึ่งมีคลองเล็กคลองน้อยนับร้อยคลอง ประกอบด้วยพื้นที่ ๖ ตำบลของอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนชนบทที่แฝงอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง

อุโมงค์จาก เป็นอุโมงค์ธรรมชาติที่ต้นจากลู่ใบเข้าหากันเป็นซุ้มยาวหลายร้อยเมตร มีความสวยงาม ร่มรื่น ชวนให้น่าบันทึกภาพเก็บไว้เป็นความประทับใจสำหรับผู้ที่รักการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนลุงสงค์ เป็นศูนย์การเรียนรู้การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ใช้น้ำมันมะพร้าวในการดูแลสุขภาพตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า และใช้ในการบริโภคเพื่อดูแลสุขภาพ โดยนำน้ำมันมะพร้าวที่สกัดได้มาพัฒนาต่อยอดด้วยนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอางค์ ภายใต้   แบรนด์ “Prow Thai by สวนลุงสงค์” เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้และนำกลับไปเป็นของฝากจากชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ล่องเรือคลองร้อยสาย คลองร้อยสาย ล่องเรือคลองร้อยสายมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและป่าชายเลนสองฝั่งคลองจะเต็มไปด้วยกอจาก ต้นลำพู ต้นลำแพนและโกงกาง มีนกตามธรรมชาติหลากหลายชนิดในสองฝั่งคลองความอุดมสมบูรณ์ของต้นจากทำให้ทางและปลายใบโน้มเข้าหากันทำให้เกิดลักษณะเป็นอุโมงค์จากและสะท้อนบนพื้นน้ำเป็นความงดงามตามธรรมชาติ การล่องเรือมี ๒ แบบ คือล่องแบบระยะสั้นโดยใช้เรือแจว ใช้เวลาในการล่องเรือประมาณ ๒๐-๔๐ นาที ล่องเรือระยะไกลโดยใช้เรือหางยาวใช้เวลาประมาณ ๓๐-๖๐ นาที 

ล่องเรือชมหิ่งห้อย คลองร้อยสาย ล่องเรือชมหิ่งห้อยจะเริ่มที่ประมาณเวลา ๑ ทุ่ม ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและป่าชายเลนทำให้ยังมีหิ่งห้อยตามต้นไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ต้นลำพู ลำแพน ต้นโกงกางและต้นสำลีงา ซึ่งมีกลิ่นอ่อน ๆ ของใบและต้นดอกมีสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ แต่ปัจจุบันหาดูได้ยากเนื่องจากเป็นต้นไม้ขนาดเล็ก กลาง ขึ้นสองฝั่งคลองทำให้ กีดขวางการสัญจรทางเรือชาวบ้านจึงโค่นทิ้งเป็นส่วนใหญ่

การสาธิตการสานทางมะพร้าวและ หมาน้ำ ตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้ชุมชนวัดบางใบไม้เป็นชุมชนดั้งเดิมที่ประกอบอาชีพการทำสวนมะพร้าว ในสมัยก่อนการ จัดงานก็จะนิยมใช้ทางมะพร้าวมาขัดสานเป็นลวดลายต่าง ๆ เพื่อประดับสถานที่ให้มีความสวยงาม แต่เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้มีการเปลี่ยนแปลงไปใช้สิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ ในภายหลัง เช่นการใช้ลูกโป่ง ดอกไม้พลาสติก ซึ่งส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อชุมชนได้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมจึงได้รื้อฟื้นวิถีชีวิตดั้งเดิมขึ้นมาใช้และถ่ายทอดแก่ผู้สนใจหมาน้ำเป็นภาชนะที่ทำจากใบจากอ่อน (ยอดจาก) ใช้สำหรับตักน้ำ วิธีการทำจะนำใบจากทับซ้อนกันเป็นแถวแล้วงอปลายทั้งสองข้างเข้าหากัน มัดด้วย เชือกก้านจาก หรือต้นคล้าที่มีความเหนียว ปัจจุบันมีการนำหมาน้ำมาเป็นภาชนะใส่อาหาร ประดับตกแต่งสถานที่ 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดเขาพัง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ชุมชนคุณธรรมวัดเขาพัง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคลองแสง เป็นชุมชนที่มีภูเขาอยู่ล้อมรอบ มีวัดเขาพัง ก่อตั้งขึ้นโดยพ่อท่านบุญแก้ว อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาพัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางและเป็นที่เคารพของชาวบ้านภายในชุมชน

ชุมชนคุณธรรมวัดเขาพัง ตั้งอยู่ริมน้ำคลองแสง มีธรรมชาติที่สร้างสรรค์สิ่งแปลกตาเป็นเอกลักษณ์ คือภูเขารูปหัวใจ มีสะพานแขวนข้ามแม่น้ำคลองแสงที่ด้านหลังจะมองเห็นภูเขารูปหัวใจได้อย่างชัดเจน ด้านการท่องเที่ยวชุมชนมีตลาดวิถีชุมชนชื่อว่า “หลาดคลองแสง” ซึ่งการท่องเที่ยวที่สำคัญคือการท่องเที่ยวฤดูทุเรียนหล่น มีทุเรียนคลองแสง เป็นพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งมีรสชาติและเนื้อสัมผัสเฉพาะตัว ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วไป

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดเขาพัง

เป็นวัดราษฎร์ มหานิกาย มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีอายุก่อนประวัติศาสตร์ที่เชื่อได้ว่าเป็นเส้นทางสายไหมข้ามระหว่างทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ในสมัยเริ่มแรก หลักฐานทางโบราณคดี สำคัญที่อยู่ภายในวัดเขาพังได้แก่ พระพุทธรูปและพระแกะสลักด้วยไม้ประดิษฐานภายในโบสถ์ พัทธสีมาคู่ และลูกปัด เป็นต้น มีสิ่งสักการะและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนชุมชน คือหลวงพ่อทวดรอดที่ผู้มาสักการะกราบไหว้ เชื่อว่าเมื่อมากราบไหว้แล้วช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ภูเขารูปหัวใจ ประติมากรรมทางธรรมชาติที่เกิดจากการกัดกร่อนและพังทลายของภูเขาหินปูนที่มีลักษณะเป็นรูปหัวใจและมีต้นไม้เขียวขจีบริเวณบนภูเขา หน้าผาเป็นสีของหินปูนตามธรรมชาติ ทำให้รูปหัวใจมีความโดดเด่นสามารถมองเห็นได้ชัดเจนทั้งมุมมองจากภายในบริเวณวัดเขาพังและสะพานแขวน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเช็คอินที่คนทุกเพศทุกวัยนิยมมาถ่ายภาพทั้งในช่วงเทศกาลและวันธรรมดา

สะพานแขวนลวดสลิง ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ข้ามคลองพะแสงเพื่อใช้ขนส่งผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านในชุมชน มีการสร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๖ มีความยาว ๑๒๐ เมตร ในทิศทางเหนือ-ใต้ ใช้ งบประมาณสร้าง ๒,๔๔๔,๐๐๐ บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพัง และทำให้สามารถดูพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกจากบนสะพาน เป็นจุดเช็คอินที่สามารถถ่ายภาพเดียวได้ทั้ง สะพาน แม่น้ำ และภูเขารูปหัวใจ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

หลาดคลองแสง หลาดคลองแสงถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบสวนสมรมย์ เนื่องจากภายในสวนมีความหลากหลายของพืชพันธุ์ เช่น ทุเรียน ลองกอง เงาะ มังคุด มะละกอ กล้วย และเลี้ยงไก่ในสวนเดียวกันและมีเทศกาลกินผลไม้ที่ขึ้นชื่อโดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน เรียกกันว่า ฤดูทุเรียนหล่น

กิจกรรมการท่องเที่ยว

เทศกาลทุเรียน คลองแสง หลาดคลองแสง หลาดคลองแสงหรือตลาดวิถีชีวิตชุมชนคลองแสงตั้งอยู่บริเวณชุมชนวัดเขาพังเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เชิงเกษตรและวิถีชีวิตดั้งเดิม เปิดโอกาสให้คนในชุมชนนำของดีมาขายสร้างรายได้ มีการสาธิตการทำอาหารพื้นบ้านที่หารับประทานได้ยาก เช่น การหลามข้าว การทำปลายอก เป็นต้น ตลาด ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนผลไม้และผลไม้ขึ้นชื่อ คือทุเรียนคลองแสง ที่มีรสชาติหอมหวานและเนื้อสัมผัสเฉพาะตัว และมีต้นทุเรียนอายุกว่าร้อยปี นอกจากอาหารแล้วยังมีสินค้าภูมิปัญญา เช่น ของเล่น อีกทั้งยังสามารถปั่นจักรยานเป็นวงรอบเพื่อชมธรรมชาติภายในตลาดได้อีกด้วย

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ชุมชนคุณธรรมวัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ อยู่ในเขตการปกครองของ อบต.ดอนสัก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลาดเชิงเขาสู่พื้นที่ราบชายฝั่ง เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ปลูกยางพารา  ทำสวนผลไม้ และทำประมง รายได้ส่วนใหญ่มาจากการประกอบอาชีพหลัก ทำสวน ทำประมง และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อหลายแห่งที่ทำรายได้ ให้ชาวบ้านในชุมชน อาทิ วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ บ้านเกาะแรต พิพิธภัณฑ์ปลาหิน

อัตลักษณ์ และความโดดเด่นของชุมชน
วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ ไปสักการะหลวงพ่อจ้อย จุดชมวิวบนเขา พิพิธภัณฑ์วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ บ้านเกาะแรต พักโฮมสเตย์ซึ่งมีอาหารพื้นบ้านบริการ นั่งเรือตกปลา ชมปลาโลมาสีชมพู ดูพระอาทิตย์ตกดิน ฯลฯ พิพิธภัณฑ์ปลาหิน สร้างโดย นายกิตติ สินอุดม นำหินมาแกะสลักเป็นปลา ปัจจุบันมีปลาหินโชว์ในพิพิธภัณฑ์ประมาณ 3,000 กว่าตัว

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ ภายในวัดประดิษฐานสรีระของพระครูกิตติมงคลพิพัฒน์ (อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาฯ) ในโลงแก้วภายในมณฑปให้ประชาชนทั่วไปสักการะ บนเขามีพระธาตุให้สักการะ และมีจุดชมวิวมองเห็นทิวทัศน์ของอำเภอดอนสักทั้งอำเภอ มีพิพิธภัณฑ์วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์

บ้านเกาะแรต เป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ในอ่าวบ้านดอน ชาวบ้านมีอาชีพในการทำประมง มีกิจกรรมมากมายให้ทำบนเกาะ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักเที่ยว เช่น เดินซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป เดินชมรอบเกาะ พักโฮมสเตย์ซึ่งมีอาหารพื้นบ้านบริการด้วย นั่งเรือตกปลาชมปลาโลมาสีชมพู ดูพระอาทิตย์ตกดิน ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์ปลาหิน พิพิธภัณฑ์ปลาหิน สร้างโดย นายกิตติ สินอุดม นำหินมาแกะสลักเป็นปลา ปัจจุบันมีปลาหินในพิพิธภัณฑ์ประมาณ 3,000 กว่าตัว

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิววัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ จุดชมวิวอยู่บนเขาวัดสุวรรณประดิษฐ์ มองจากจุดชมวิวจะมองเห็นทิวทัศน์ของอำเภอดอนสักทั้งอำเภอ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

Hug village มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ จุดถ่ายรูป จุดนั่งเล่น จุดชมวิว จุดนั่งพัก จุดให้อาหารสัตว์มีม้าและแกะ จุดวิวพ้อยที่เป็นวิวทะเล มองไปจะเห็นเกาะแรตทั้งเกาะ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

นั่งเรือชมโลมาสีชมพู เกาะแรต นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวเกาะแรต จะบริการเรือนำเที่ยวชมปลาโลมาสีชมพู โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วง 07.00-10.30 น. เพราะเป็นเวลาที่มีโอกาสเจอโลมาเยอะที่สุด

ชมวิว ณ จุดชมวิวบนพระธาตุ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทั้งอำเภอดอนสัก และมองเห็นทะเลกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ จุดชมวิววัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ สร้างขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นมาชื่นชมทัศนียภาพของอำเภอดอนสัก ทั้งบนบกและทะเล สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงามมาก ปัจจุบันเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่อำเภอดอนสัก จังหวัด   สุราษฎร์ธานี และนักท่องเที่ยวจังหวัดใกล้เคียง

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านออกเขา จังหวัดพัทลุง

บ้านออกเขาชัยสน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาชัยสน ซึ่งเป็นภูเขาหินปูน  ทอดยาวเหนือ-ใต้ มีความยาว ๓.๕ กม. ความสูง ๒๖๐ เมตร มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมรอบภูเขาชัยสน ประกอบด้วย บ่อน้ำร้อนเขาชัยสน ถ้ำน้ำเย็น ถ้ำลอกอ วัดหัวเขาชัยสน  ถ้ำพระ ศูนย์การเรียนรู้ “บ้านหนัง ตา-ลุง” จุดสาธิตการเรียนรู้การทำผ้ามัดย้อม จุดสาธิตการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง “นาไร่ใกล้ชิดบุญ”

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ : บ่อน้ำร้อน  ถ้ำน้ำเย็น ถ้ำควาย และถ้ำลอกอ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : ศูนย์การเรียนรู้หนังตะลุง “บ้านหนัง ตา-ลุง” จุดสาธิตการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
“นาไร่ใกล้ชิดบุญ” ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย จุดสาธิตการเรียนรู้การทำผ้ามัดย้อม

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

ถ้ำพระ การเข้าชมถ้ำพระ ต้องเดินขึ้นบันได โดยขั้นแรกจะเจอกับลานกว้างหน้าถ้ำ มีลักษณะเหมือนห้องโถงแบบเปิด ขึ้นไปจะเห็นต้นไม้น้อยใหญ่ห้อยลงมาสวยงาม ข้างในห้องแรกจะมีบ่อน้ำที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ สามารถนำไปต้มยาได้ บริเวณด้านในของถ้ำจะมีเสาไม้ที่ถูกแกะสลักให้คล้ายพระพุทธรูปไว้สักการะบูชา    มีจิตรกรรมบนฝาผนังถ้ำที่สวยงาม ที่เกี่ยวกับพุทธประวัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนด้านบนเป็นที่ประดิษฐานของพระนอนหรือพระบรรทม ชื่อว่าพระวิมุตตะโร มีพุทธลักษณะงดงามมาก 

วัดหัวเขาชัยสน มีพระพุทธรูปหยกขาวที่สวยงามจากพม่าประดิษฐานอยู่ในโบสถ์

บ้านหนังตา-ลุง ศูนย์การเรียนรู้บ้านหนังตะลุง  เป็นการรวมกลุ่มแกะรูปหนังตะลุง  หน้าถ้ำพระเขาชัยสน โดย       นายสมพงษ์  ชูจิต ได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีให้คงอยู่เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังสามารถสืบทอดศิลปวัฒนธรรมไทยในท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนถึงการดำรงชีวิตในด้านอาชีพ รายได้ ความเป็นอยู่ ศาสนา ความเชื่อ และประเพณีวัฒนธรรม ปัจจุบันมีการต่อยอดการแกะหนังตะลุง เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น โคมไฟ กระเป๋า เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

บ่อน้ำร้อนเขาชัยสน เป็นบ่อน้ำร้อนที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติ ภายในพื้นที่บ่อน้ำร้อนมีพื้นที่สำหรับแช่เท้า แช่มือ เป็นพื้นที่สาธารณะมีห้องอาบน้ำซึ่งมีทั้งแบบส่วนตัวแบบครอบครัวและมีที่พักข้ามคืนบริการ นอกจากนี้ยังมีบริเวณนวดฝ่าเท้า นวดผ่อนคลายในบรรยากาศธรรมชาติ ภายในบ่อน้ำร้อนเขาชัยสน มีสินค้าพื้นบ้านจำหน่าย เช่น สมุนไพรเงาะป่า เขียง ปุ๋ยจากขี้ค้างคาว อีกทั้งยังมีฝูงลิงเจ้าบ้านมารอต้อนรับผู้มาเยือนอีกด้วย  

ถ้ำน้ำเย็นเขาชัยสน ถ้ำน้ำเย็นเขาชัยสน  เป็นเชิงหน้าผาภูเขาชัยสน บริเวณด้านล่างมีน้ำไหลลอดผ่านมาจากในถ้ำ ทำให้น้ำมีความเย็นกว่าปกติประกอบกับโดยรอบบริเวณมีความร่มรื่น ทำให้นักท่องเที่ยวสัมผัสได้ถึงความผ่อนคลาย และ ยังมีบริการล่องเรือชมความสวยงามของถ้ำ

ถ้ำลอกอ ถ้ำลอกอ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า“ถ้ำสุขใจ” เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในถ้ำเป็นห้องโถงมีแสงลอดผ่านในยามเที่ยงวันเป็นถ้ำที่มีความหลากหลายของหินงอกหินย้อย ที่งดงามตระการตา   รวม ๑๐ กว่าจุด ภายในถ้ำมีอากาศที่เย็นสบาย 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย เป็นศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งโพรง เพื่อจำหน่ายและแปรรูปผลิตภัณฑ์ จากน้ำผึ้ง เป็นสบู่ แชมพูสระผม   ครีมอาบน้ำ 

จุดสาธิตการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง “นาไร่ใกล้ชิดบุญ” เป็นสวนเกษตรพอเพียง และสวนเกษตรแบบยั่งยืน เป็นสวนแห่งการเรียนรู้ และบำบัดสุขภาพด้วยธรรมชาติบำบัด ด้วยผักปลอดสารพิษ สวนมะพร้าว บ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่

กิจกรรมการท่องเที่ยว

แช่น้ำร้อน บ่อน้ำร้อนเขาชัยสน แช่เท้า อาบน้ำร้อนบ่อน้ำร้อนเขาชัยสน

นมัสการพระนอน ถ้ำพระ นมัสการพระนอน

ล่องเรือชมหินงอก หินย้อย ในถ้ำน้ำเย็น ถ้ำน้ำเย็นเขาชัยสน ล่องเรือชมหินงอก หินย้อย ในถ้ำน้ำเย็น

ชมความสวยงามในถ้ำลอกอ ถ้ำลอกอ ชมความสวยงามของถ้ำลอกอ ที่เป็นประกายระยิบระยับ

เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จุดสาธิตการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง “นาไร่ใกล้ชิดบุญ” ชมสวนแปลงผักปลอดสารพิษ บ่อเลี้ยงปลา  การเลี้ยงไก่ ดื่มน้ำมะพร้าว

ชมการเลี้ยงผึ้งโพรงไทย ชิมน้ำผึ้งโพรง ศูนย์การเรียนรู้ การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย ชมการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยชิมน้ำผึ้งโพรง เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งโพรงไทย

ชมการแกะหนัง บ้านหนังตา-ลุง ชมการแกะหนัง เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากหนัง

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านตะโหมด จังหวัดพัทลุง

ชุมชนตะโหมดเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์โบราณเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาที่ยาวนาน  พื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และแม่น้ำลำคลองที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด ประกอบด้วยชาวไทยพุทธ-มุสลิม ที่มีพื้นฐานความสัมพันธ์แบบเครือญาติสืบเนื่องมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชน  

ชุมชนตะโหมดมีการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น มีการนำที่พักมาให้บริการ มีชุดการแสดงสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือน  เป็นการต่อยอดภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชน มีของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว 

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดตะโหมด  เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางชุมชนตะโหมด และเป็นที่ตั้งของวิหาร ‘พ่อท่านช่วย’ เจ้าอาวาสองค์แรก ของวัดตะโหมด พระผู้เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้าน ชาวตะโหมดเชื่อกันว่าหากได้มาสักการะ ท่านจะช่วยคุ้มครอง ไม่ว่าจะมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจใด ๆ ท่านจะช่วยปัดเป่าให้ทุกคนได้สมหวังทุกประการ         

หลักสองศาสนา หลักสองศาสนา เป็นที่ฝังศพของศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เมื่อมีผู้เสียชีวิต การประกอบพิธีทางศาสนา ญาติทั้งสองฝ่ายจะมาทำพิธีอยู่ร่วมกัน และมีข้อตกลงว่าในบริเวณดังกล่าวหากมีการเลี้ยงอาหาร ก็จะให้เกียรติกันไม่นำอาหารที่ประกอบด้วยหมูเข้ามาในพื้นที่ และทำให้ทุกคนรักใคร่อยู่ร่วมกันได้อย่างสนิทสนม นอกจากนี้ยังมีหลักทวดบรรพบุรุษที่เชื่อกันว่าหากใครทำการสิ่งใดที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แล้วนำมานั่งหน้าหลักทวดให้พูดความจริงแล้ว จะไม่กล้าพูดโกหก ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่ดีของคนในพื้นที่

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

น้ำตกลานหม่อมจุ้ย เป็นธารน้ำตกที่เต็มไปด้วยโขดหิน  มีแอ่งน้ำตื้น ๆ ให้เล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย  เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวกันแบบครอบครัว  และมีเด็กๆ มาเที่ยวด้วยสามารถลงเล่นน้ำได้ โดยไม่เป็นอันตราย  และยังมีลานกว้างเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ

จุดชมวิวควนตาคม มีลักษณะเป็นเนินควนสูงราว 50 เมตร และมีพื้นที่ตรงกลางโล่ง ไว้สำหรับเป็นพื้นที่ยืนชมวิวทิวทัศน์ได้โดยรอบ แต่ละทิศล้วนแล้วแต่มีธรรมชาติที่น่าสนใจแตกต่างกัน เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ พร้อมชื่นชมบรรยากาศของท้องทุ่งนาและผืนป่า

อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุงตั้งอยู่ริมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดพัทลุง มีทัศนียภาพที่สวยงามเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นอ่างที่ทำหน้าที่ช่วยในเรื่องภัยจากน้ำทั้งป้องกันน้ำท่วมและแก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ อำเภอตะโหมด อำเภอบางแก้ว และ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงครัวเรือนแบบยั่งยืน สวนตานึง เป็นสวนเศรษฐกิจพอเพียง  ที่เปิดให้เรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจ มีทั้งกิจกรรมมากมายให้ทำ ขี่ม้าชมสวน กินผักสดๆ ภายในสถานที่ร่มรื่น ด้วยต้นไม้นานาชนิด มีกิจกรรมเรียนรู้ที่น่าสนใจให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตร  เป็นสถานที่เหมาะสำหรับครอบครัว พาลูกหลานมาทำกิจกรรมต่าง ๆ

นาอินทรีย์บ้านตะโหมด ชุมชนตะโหมดตั้งอยู่ที่ราบเชิงเขาทางตะวันออกของแนวเทือกเขาบรรทัด พื้นลาดชันลงไปทางทิศตะวันออกสลับกับเนินเขาเตี้ย ๆและพื้นราบ พื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และแม่น้ำลำคลองที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด เป็นที่ราบเหมาะแก่การทำกิน เช่น เพาะปลูก ทำไร่ทำนา เพราะอยู่ใกล้เทือกเขา มีแม่น้ำหลายสายจากเทือกเขาต่าง ๆ 

วิสาหกิจชุมชนรักษ์ผึ้งและชันโรงเขาบรรทัด เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเลี้ยงผึ้งและชันโรงอย่างครบจงจร เปิดโอกาสให้เกษตรกรหรือผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้วิธีการเลี้ยงผึ้งและชันโรง ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มแรกของการต่อโรง การดูแล การเก็บและรวบรวมน้ำผึ้งให้ถูกต้องและได้มาตรฐาน ไปจนถึงการแปรรูป สามารถนำไปเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ขี่ม้าชมสวน ณ ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงสวนตานึง

ล่องเรือตะขาบในอ่างเก็บน้ำ

ชมพระอาทิตย์ตกที่อ่างเก็บน้ำเขาหัวช้าง

ชมทะเลหมอกควนตาคม

ผึ้งและชันโรงเขาบรรทัด

ชมและช้อปสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดปาโมกข์ จังหวัดพังงา

ชุมชนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้เขียวขจี ร่มรื่น ละแวกชุมชนมีคลองขนาดใหญ่ไหลผ่าน ตั้งชุมชนเหนือบ่อน้ำพุร้อน ซึ่งเห็นร่องรอยของพื้นที่ทำเหมืองแร่ดีบุกอยู่บ้าง มีประชากร ๕๑๔ คน จาก ๑๕๖ ครัวเรือน (ข้อมูล จปฐ. ปี ๒๕๖๒) นับถือศาสนาพุทธ ๑๐๐ % ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเป็นชุมชนอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทย และท้องถิ่น

ความเป็นชุมชนที่สงบ วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คนที่ผูกพันกับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรมภูมิปัญญาส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ที่โดดเด่น เช่น งานวันขนมไทย งานหัตถกรรมจักสานหมวกใบร่มข้าว ที่เป็นสัญลักษณ์ของชุมชน และสามารถร่วมกิจกรรมเทศกาลงานประเพณี และวันสำคัญ ได้ตลอดทั้ง ๑๒ เดือน

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

ถนนคนเดินบ้านปากถัก ถนนคนเดินย่านตลาดเก่า ของอำเภอกะปง เปิดทุกวันเสาร์ เวลา ๑๕.๐๐-๒๐.๐๐ น.ระหว่างเดือนธันวาคม-เดือนพฤษภาคม บริเวณโดยรอบของ ตลาด จะพบกับบ้านเก่าตึกสไตล์โคโลเนียลสมัยโบราณ ภายในตลาดจะมีการสาธิตหัตถกรรม การแสดงพื้นบ้าน การจัดจำหน่ายอาหารและขนมพื้นถิ่น

บริษัทเรือขุดแร่ จุติกะปง จำกัด ศูนย์การเรียนรู้      การทำเหมืองแร่สมัยโบราณของกะปง     เปิดทุกวันเสาร์ ๑๕.๐๐-๑๘.๐๐ น. ระหว่างเดือนธันวาคม-เดือนพฤษภาคม

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปากพู่ ร่วมใจ ศูนย์เรียนรู้ประจำชุมชนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว การทำเครื่องแกง การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร หัตถกรรมหมวกใบร่มข้าว 

 แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

น้ำพุร้อนปลายพู่ น้ำพุร้อนทางธรรมชาติที่เกิดจากการไหลมารวมตัวกันระหว่างธารน้ำร้อนและน้ำเย็น น้ำพุร้อนที่นี่สามารถนำไข่มาต้มเป็นไข่ออนเซ็น

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนทุเรียนป้านุช-ลุงเปีย สวนทุเรียนที่จำหน่ายทุเรียนพันธุ์สาลิกา    (ทุเรียนเฉพาะถิ่นของเมืองกะปง) และทุเรียนพื้นบ้าน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเที่ยวชมสวนพร้อมกับรับประทานทุเรียน

บ้านหนังสือชุมชน สวนสมรมย์ที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เช่น      การเลี้ยงปลา เลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ ปลูกพืชสวนครัว (หน่อไม้ ตำลึง ผักกูด) ผลไม้ (เงาะ ทุเรียน) รวมถึงไม้ประดับ   

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ขับ ATV รีสอร์ทกะปงATV ขับ ATV รอบ ๆ รีสอร์ท สนามทดลองขับ และสามารถขับไปยังน้ำพุร้อนปลายพู่ รวมถึงบริเวณใกล้เคียง

การแช่น้ำร้อน – ลวกไข่ น้ำพุร้อนปลายพู่  น้ำพุร้อนปลายพู่เป็นธารน้ำร้อนและน้ำเย็นไหลมาบรรจบกันซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเล่นน้ำและแช่น้ำได้ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถซื้อไข่จากร้านค้ามาลวกเป็นไข่ออนเซ็น

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม