ชุมชนคุณธรรมวัดแก่นจันทน์เจริญ (บ้านบางพลับ) จังหวัดสมุทรสงคราม

เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลาช้านาน คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมเชิงอนุรักษ์ อาศัยระบบนิเวศสามน้ำที่มีน้ำขึ้นน้ำลงวันละ ๒ ครั้ง จึงเหมาะแก่การทำสวนยกร่อง ชาวบ้านส่วนใหญ่เพาะปลูกพืชผลแบบผสมผสาน ที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ นอกจากนี้ยังมีไม้ผลอื่น ๆ อีกมากมาย 

เสน่ห์ของชุมชนคุณธรรมฯวัดแก่นจันทน์เจริญ (บ้านบางพลับ) เป็นชุมชนที่ดำรงวิถีชีวิตชาวสวน เป็นชุมชนเกษตรที่พึ่งพาตนเองและอยู่อย่างพอเพียง มีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่เหมาะแก่การเรียนรู้ หลากหลาย มีประเพณีที่สำคัญ และเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก คือ ประเพณีตักบาตรขนมครก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
วัดบางพลับ
เป็นวัดเก่า สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า พระเจ้าตากสินมหาราชและเหล่าทหารใช้บริเวณวัดนี้เป็นที่พักค้างคืน และประกอบพิธีกรรมภายในอุโบสถ ก่อนจะยกทัพเรือข้ามฟากไปรบกับพม่าที่ค่ายบางกุ้งในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ด้วยเป็นวัดที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำตรงข้ามกับวัดบางกุ้ง จึงเรียกชุมชนนี้ตามเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “ชุมชนบ้านพักทัพ” และเรียกชื่อวัดว่า วัดพักทัพ ต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็นวัดบางพลับในที่สุด
วัดแก่นจันทน์เจริญ
ตามประวัติเล่าว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ บนที่ดินของพระยาดาราและคุณหญิงปิ่น บนเนื้อที่เกือบ ๗ ไร่ เมื่อแรกมีพระสงฆ์มาอยู่ชื่อพระอธิการแสง และพระอธิการทอง ต่อมาวัดทรุดโทรมลงจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ กำนันจึงนิมนต์หลวงพ่อโห้ เจ้าอาวาสวัดบางพลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดแก่นจันทน์เจริญด้วย
ลานจันบวร
เป็นพื้นที่ตลาดวัฒนธรรม ภายในบริเวณวัดแก่นจันทน์เจริญซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวบ้านและเด็กนักเรียน นำพืชผลทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนมาวางจำหน่าย

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คลองบางพลับ
เป็นคลองที่ไหลผ่านภายในชุมชน ทางวัดแก่นจันทน์เจริญจึงทำ   ท่าน้ำสำหรับเป็นที่นั่งเล่น พักผ่อน และในอนาคตจะมีกิจกรรมการพายเรือ และการท่องเที่ยวทางน้ำด้วย

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนส้มโอ
ชุมชนบ้านบางพลับปลูกส้มโอขาวใหญ่โดยใช้การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ พร้อมไปกับการรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม แล้วดึงนักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเป็นชุมชนแรกของจังหวัดสมุทรสงครามที่ปลูกส้มโอขาวใหญ่

 กิจกรรมการท่องเที่ยว

การตักบาตรขนมครก
วัดแก่นจันทน์เจริญ เป็นงานประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศไทย จัดขึ้นทุกปี ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ สมัยหลวงพ่อโห้เป็นเจ้าอาวาส มีความเป็นมาว่า ในสมัยที่หลวงพ่อโห้เป็นเจ้าอาวาส ขณะที่พระสงฆ์ในวัดทำการตัดเลื่อยไม้เพื่อมาใช้ในการสร้างเสนาสนะ ได้มีแม่ค้าพายเรือนำขนมครกมาจำหน่ายและถวายพระ ชาวบ้านเห็นจึงซื้อขนมครกถวายพระเป็นประจำ จนเป็นประเพณีสืบต่อมา
ปั่นจักรยาน
ชุมชนคุณธรรมวัดแก่นจันทน์เจริญ (บ้านบางพลับ) เส้นทางปั่นจักรยานท่องเที่ยวภายในชุมชนระยะทาง ๕ – ๗ กิโลเมตร เริ่มจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โดยมีจักรยานไว้สำหรับนักท่องเที่ยวปั่นภายในชุมชน ไปยังโบราณสถานวัดบางพลับ ประกอบไปด้วย พระวิหาร พระอุโบสถ เจดีย์ เสมา ซึ่งมีประวัติศาสตร์เก่าแก่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช หลังจากนั้นปั่นจักรยานไปยังบ้านพญาซอชมรุกขมรดก ต้นมะพร้าวซอ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ และพบกับปราชญ์ชาวบ้าน ที่จะสาธิตการทำกะโหลกซอ และฟังเพลงบรรเลงจากซออันไพเราะ เดินทางปั่นจักรยานผ่านเส้นทางสวนส้มโอ แวะชิมส้มโอปลอดสารสด ๆ จากต้น ต่อจากนั้นปั่นจักรยานไปยังวัดแก่นจันทน์เจริญ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอุโบสถชมภาพจิตรกรรมฝีมือช่างเอก
ทำผลไม้กลับชาติ
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้แช่อิ่มกลับชาติ “ผลไม้กลับชาติ” คือการนำผักหรือผลไม้ที่มีรสชาติขมอย่างบอระเพ็ด มะกรูด มาแช่อิ่มกลายเป็นของหวานแบบไทยโบราณ ซึ่งสูตรนี้ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของครอบครัวหัตถกรรม ซึ่งปัจจุบันเอง ก็มีการนำผักผลไม้ที่ขึ้นริมรั้วบ้านอย่างมะระขี้นก พริก มะนาว ผลส้มโออ่อน มะละกอ แตงกวา มาแช่อิ่มเพื่อให้มีรสชาติหวาน กินได้ง่าย จึงเป็นที่มาของชื่อ “ผลไม้กลับชาติ”

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น