ชุมชนคุณธรรมบ้านใหม่ไทยพัฒนา จังหวัดสระแก้ว

ประมาณ ปี พ.ศ. 2525 มีครัวเรือนชาวนครราชสีมา จำนวน 6 ครัวเรือน ได้อพยพมาตั้งบ้านเรือน อยู่ที่หมู่บ้านหนองหมอบ (ชื่อตามชาวบ้านเรียก) กลุ่มชนนี้ได้นำวัฒนธรรมการทอผ้า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและได้อนุรักษ์ถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ต่อมามีครัวเรือนย้ายตามกันมาและตั้งถิ่นฐาน อยู่มากขึ้น ปัจจุบันทางราชการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านใหม่ไทยพัฒนา

เป็นหมู่บ้านที่มีวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมในด้านทอผ้า เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  ในปัจจุบันศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้สั่งทอผ้าไหมจากบ้านใหม่ไทยพัฒนาและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานกระบือจำนวน 25 ตัว ให้กับเกษตรกรบ้านใหม่ไทยพัฒนาเพื่อใช้ในการเกษตรและทำมาหาเลี้ยงชีพ 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

แหล่งเรียนรู้การทอผ้าไหม
แหล่งเรียนรู้การทอผ้าไหม เกิดจากการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชน เพื่อทอผ้าไหม ซึ่งผ้าไหมของบ้านใหม่ไทยพัฒนามีกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนภายในชุมชน ตั้งแต่การเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อมไหม และการทอผ้าไหม ซึ่งความโดดเด่นของผ้าไหมทอมือบ้านใหม่ไทยพัฒนา คือ ใช้เส้นไหมแท้มาย้อมสี ทอเป็นผ้าที่มีลายสวยงาม เนื้อผ้าละเอียดเรียบ สีไม่ตก เนื้อแน่นเป็นเงางาม ซักแล้วไม่หดตัว ลายผ้ามีทั้งลายดั้งเดิม ลายประยุกต์ 

แหล่งเรียนรู้การจักสาน
แหล่งเรียนรู้การจักสาน มีนายทักษิณ เสนาน้อย และนายบุญเลิศ บันอุมาลี ซึ่งเป็นคนในชุมชน ที่มีความรู้ความสามารถด้านการจักสาน (ตะกร้าโบราณ, กระด้ง, ไซ) และมีนายยนต์ ละวิเวก มีความรู้ด้านการทำซุ้มไก่ และมีนางสาวสุมิตรา ทองไทย และนางคำปอง ทองไทย และนายแก้ว ทวดทอง จักสานชะลอมไม้ไผ่ โดยการจักสานไม้ไผ่นั้น เมื่อก่อนทำเพื่อขายเลี้ยงชีพ และใช้ในครัวเรือน แต่ในปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจักสาน 

แหล่งเรียนรู้ดนตรีพื้นบ้าน (หมอลำ, หมอแคน)
เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านมรดกภูมิปัญญาของคนในชุมชน ที่ได้รับการสืบทอดมาจากคนอีสาน โดยคนในชุมชนคุณธรรมบ้านใหม่ไทยพัฒนา ย้ายถิ่นฐานมาจากอีสาน และมีการเล่นหมอลำ หมอแคนสืบทอดกันมาภายในชุมชน โดยปัจจุบันได้มีการนำหมอลำ หมอแคน มาใช้ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว

แหล่งเรียนรู้งานฝีมือจากเศษผ้าไหม
นางบุญมี ปกพันธ์ นางทองดี พาชื่น และนางทิพย์ ปกพันธ์ เป็นผู้บุกเบิกการทำผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าไหม และรังไหม ซึ่งทั้ง ๓ คน เห็นว่าเศษผ้าไหมและรังไหมนั้น ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงเกิดไอเดียที่จะนำเศษผ้าไหม และรังไหมมาสร้างมูลค่า โดยการผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์ สบู่จากรังไหม เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อ่างเก็บน้ำท่ากระบาก
อ่างเก็บน้ำท่ากระบากมีจุดเริ่มต้นมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการปรับปรุงระบบชลประทาน ในเขตพื้นที่ราบเชิงเขาอ่างเก็บเป็นแหล่งน้ำ สำหรับเกษตรกรเพื่อการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร มีสภาพแวดล้อมที่งดงาม ของป่าโปร่ง รายรอบด้วยต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ รวมทั้งชนิดพันธุ์ที่นำมาปลูกประดับ ที่นี่จึงเป็น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีบรรยากาศสวยงาม โดยเฉพาะในยามเย็นที่ดวงอาทิตย์ใกล้ลาลับนั้น วินาทีที่ ท้องฟ้าแปรเปลี่ยนเป็นสีทองเหนือผืนน้ำขนาดใหญ่ในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ 

สวนสัตว์ช่องก่ำบน
สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน เป็นสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดสระแก้ว อยู่ที่ตำบลหนองหมากฝ้าย อำเภอวัฒนานคร ได้เริ่มจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2526 เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทย ภายในมีสัตว์หลากหลายชนิด เช่น กวาง ละมั่ง หมี หมา นกเงือกปากย่น นกแก๊ก นกเงือกกรามช้าง นกขุนทอง ไก่ฟ้าหลังเทา

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นอาคารสำหรับการเรียนรู้ การจัดอบรมคนในชุมชน และผู้ที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง

แหล่งเรียนรู้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร
เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ชุมชนสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อศึกษาเรียนรู้ที่จะทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โดยชุมชนเริ่มคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบัน นอกจากทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรแล้ว ทางชุมชนไดดำเนินการปลูกสมุนไพรในชุมชน เพื่อลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์ ซึ่งการดำเนินการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ วไลยอลงกรณ์ปทุมธานี

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ต้อนรับผู้มาเยือน
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรม หมอรำพื้นบ้าน หมอพิณ หมอแคน พร้อมแนะนำชุมชน และกราบนมัสการหลวงพ่อไพศาล และศาลปู่ตา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน จากนั้นนั่งมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ชมวิถีชุมชนที่แสนเรียบง่าย
ทดสอบงานฝีมือ
แหล่งเรียนรู้งานฝีมือจากเศษผ้าไหม ศึกษาเรียนรู้วิธีการทำผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าไหม รังไหม และทดลองปฏิบัติ

จักตอก สานชะลอม
แหล่งเรียนรู้การจักสาน ศึกษาเรียนรู้วิธีการจักตอก และวิธีการสานชะลอม จากผู้เชี่ยวชาญด้านงานจักสานของชุมชน และทดลองจักตอก สานชะลอม
กว่าจะเป็นผ้าไหม
แหล่งเรียนรู้การทอผ้าไหม ศึกษากระบวนการขั้นตอนการเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อมไหม และการทอผ้าไหม ทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต้นจนจบ 
พืชผัก ปลอดสารพิษ
ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง เยี่ยมชมสวนผักผลไม้ในชุมชน ซึ่งเป็นพืชผักปลอดสารพิษ พร้อมเรียนรู้เทคนิคการปลูกผักไร้สารอย่างไร ให้รอดพ้นจากแมลง
เรียนรู้วิถีชาวนา
ศูนย์การเรียนรู้วิถีชาวนา ศึกษาเรียนรู้ วิถีชาวนาในอดีต ตั้งแต่การไถนาด้วยกระบือ การดำนา การลงแขกเกี่ยวข้าว การสีข้าว การยาลานด้วยมูลกระบือ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เป็นต้น ทั้งนี้พร้อมลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง

สมุนไพรไทย ทำอะไรได้บ้าง
แหล่งเรียนรู้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ศึกษาเรียนรู้ประโยชน์ของสมุนไพร การแปรรูปสมุนไพร และกระบวนการขั้นตอนในการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรตั้งแต่ต้นจนจบ
ควายแสนรู้
ศูนย์การเรียนรู้อนุรักษ์กระบือบ้านใหม่ไทยพัฒนา สนุกเพลิดเพลินกับการแสดงของควายแสนรู้ในชุมชน ขั้นตอนการฝึกควาย และการออกคำสั่งให้ควายทำตาม

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น